Tuesday, June 5, 2018

ไข่ไก่

ตัวผมเองชอบกินไข่ลวกตอนเช้า เลยต้องมีไข่ติดบ้านเสมอ ตอนแรกๆ ผมก็ไม่ค่อยได้สนใจหรอกว่าไข่แต่ละประเภทมันแตกต่างกันยังไง แค่ลวกไข่ให้สำเร็จก็ยากแล้ว จะสนใจก็แค่ที่ขนาดและราคา และต่อมาก็คือสีเปลือกไข่ อ้าว ไข่ไก่มันไม่ได้เปลือกสีน้ำตาลหรอกเหรอ? ไข่ไก่ที่อเมริกานั้นส่วนมากแล้วจะเปลือกสีขาวครับ แรกๆ ผมมองแล้วจะนึกว่าเป็นไข่เป็ด แต่เปลือกนั้นหนาไม่เท่า

อีกเรื่องที่น่าแปลกก็คือขนาดครับ ถ้าไล่จากเล็กไปใหญ่ ขนาดที่ซุปเปอร์ทั่วไปเอามาขายจะมี large, extra large, และ jumbo ซึ่ง large นี้ก็เทียบเท่ากับ 55g เอง ไม่ได้ใหญ่อะไร (ตั้งชื่อไปงั้น)

พอเริ่มทำงาน หาเงินใช้เองได้ ผมก็เริ่มอุตริ อยากกินของแพง ก็เริ่มจากลองไข่ออร์แกนิคบ้าง ไข่ไก่ที่เลี้ยงไม่ขังกรงบ้าง ก็ไม่ได้รู้สึกถึงความแตกต่างมากไปกว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่าย และความรู้สึกไปเองว่ามันน่าจะดีกว่า ไอ้กลิ่นไข่ลวกมันก็คล้ายๆ เดิม ไข่ออร์แกนิกเหมือนจะมีกลิ่นมากกว่า แต่ก็ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า

จนผมย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้ผมเริ่มสงสัยว่าไข่ที่อเมริกานั่นไข่ไก่จริงๆ หรือเปล่า (ไม่ใช่ไข่อย่างเดียว แต่นม และก็ของกินอย่างอื่นด้วย) เวลาผมกินไข่ลวกผมจะคนไข่แดงไข่ขาวให้เข้ากันเล็กน้อย ผมยังจำครั้งแรกที่กินไข่ลวกที่สวิสได้ พอเจาะไข่แดงปุ๊บ กลิ่นคล้ายกำมะถันก็ลอยมาแตะจมูกปั๊บ จนต่อมา ต้องเจาะแล้วหันหน้าหนีทันที ส่วนรสชาติก็เข้มข้น กินแล้วรู้สึกเหมือนมีพลัง ไข่ลวกที่อเมริกา เจาะแล้วยังต้องก้มหน้าลงไปดมถึงจะได้กลิ่น รสชาติก็จะออกไปทางจืดๆ ต้องเพิ่งแม๊คกี้เยอะมาก (แม๊คกี้ยุโรปนั้นก็อีกเรื่องที่จะยาวไปได้)

พอย้ายกลับมาอเมริกา ผมเลยกลายเป็นพวกลิ้นหาเรื่อง เลือกกินไข่ที่กลิ่นและรสชาติ พอมีข่าวออกมาว่าไข่ไก่แบบเลี้ยงไม่ขับกรง (cage-free) ที่ Whole Foods (CA) นั้นอาจจะไม่ได้ไม่ขังกรงจริง ก็ทำให้ผมกลับมาถามตัวเองว่าทุกวันนี้เลือกซื้อไข่ไก่ยังไง ส่วนหนึ่งก็ไม่อยากให้ไก่มันทรมาน แต่พอเห็นวิดีโอแล้วก็อดโมโหในฐานะผู้บริโภคที่รู้สึกว่าถูกหลอกไม่ได้

คือจะว่าไปแล้ว ผมก็มีส่วนผิดที่ไปหลงเชื่อคำโฆษณาเชิญชวนเอง ไก่ที่ไหนมันจะยอมถูกขังอยู่ในกรง ถ้ามัน cage free จริงๆ ป่านนี้ไก่มันไม่หนีไปหมดแล้วเหรอ? นั่นคือจุดหนึ่งที่น่าจะคิดได้เองตั้งนานแล้ว แต่ในเมื่อที่นี่คือสหรัฐ ก็จะต้องอ้างอิงคำนิยามของ USDA ครับ ซึ่งกำหนดไว้ว่าไก่จะต้องถูกเลี้ยงอยู่ในบริเวณที่สามารถเข้าถึงอาหารและน้ำได้อย่างไม่จำกัด และสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ในระยะเวลาที่วางไข่ คำว่า "บริเวณ" นั้นก็คงหมายถึงกรงซินะครับ ก็อยู่ที่ว่ากรงมันจะเล็กจะใหญ่แค่ไหน ที่สำคัญคำนิยามไม่ได้ระบุว่าจำนวนไก่ต่อพื้นที่นั้นห้ามเกินเท่าไหร่ ซึ่งผมมองว่าเป็นช่องโหว่ที่สามารถตีความเข้าข้างตัวเองได้มากเลยทีเดียว พอมาถึงจุดนี้ ก็น่าจะเลิกเชื่อคำว่า cage free ได้แล้ว และอยากจะให้เลิกใช้คำนั้นเสียด้วยซ้ำ เพราะมัน relative ไม่ใช่ absolute แต่ก็อย่างว่าละครับ ที่นี่ไม่เข้มงวดเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ และก็ฟ้องกันลำบากด้วยเพราะโรงเลี้ยงไก่เองก็ปิดไม่ให้คนนอกเข้าไปดู ต้องอาศัยนักเคลื่อนไหวอย่างในวิดีโอที่บุกรุกสถานที่เข้าไป FB live ให้ดูกันถึงจะได้เห็นความจริง

สงสัยจะต้องกลับบ้านนอกไปเลี้ยงไก่เอาไว้กินไข่เอง ถึงจะถูกใจ

ปล. นึกถึงละครญี่ปุ่น Gochisousan (เมโกะ) เลย

Sunday, June 3, 2018

การแยกขยะ

NYT วันนี้มีเรื่องเกี่ยวกับการรีไซเคิลครับ (6 Things You’re Recycling Wrong) เดาว่าบทความน่าจะเจาะกลุ่มผู้อ่านทั่วสหรัฐ และเหมือนจะสื่อว่าคนส่วนใหญ่นั้นมักง่ายเรื่องนี้ อาจจะทำเพื่อดึงดูดคนให้อ่านหรือเปล่าไม่รู้ อีกจุดที่น่าสนใจคือเขาเอาพี่จีนมาเป็นเหตุผลด้วย! ก็แปลกดีที่ไม่ได้อ้างถึงจิตสำนึกต่อธรรมชาติหรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเลย คนอ่านส่วนมากคงจะไม่เก็บถ้าบอกว่าการทำบุญนี้ทำให้ตัวเองเย็นสบายอย่างไร หรือว่าผมมันจะพวกหัวโบราณ อ่านหนังสือพิมพ์ทางเสรีนิยมแล้วเลยบ่นๆ

ขอเกรินว่าขยะมักจะแยกประเภทได้อย่างน้อย 6 ประเภทนะคับ
1) compost ขยะที่ย่อยสลายได้ อย่างเช่นเศษอาหาร แก้วกระดาษ จานกระดาษ ปุ๋ยหมักนั่นเอง
2) กระดาษที่สะอาด เช่นเอกสาร หนังสือพิมพ์
3) พลาสติก แยกเบอร์บ้าง ไม่แยกบ้าง
4) โลหะ กระป๋องเอย ฝาเบียร์เอย
5) แก้ว แยกสีบ้าง ไม่แยกบ้าง
6) trash ขยะอื่นๆ ซึ่งมีส่วนผสมที่กล่างมาแต่แยกออกจากกันยาก

อย่างที่กล่างมาก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานสากลอะไรนะครับ บางเมืองก็ทิ้งบางประเภทรวมกัน บางเมืองก็แยกทิ้งอย่างชัดเจน

บทความนั้นพูดถึงขยะที่คนส่วนใหญ่แยกผิด แก้วกาแฟนั้นถ้า compost ไม่ได้ ก็ต้อง trash ลูกเดียวเพราะแก้วบางประเภทจะเคลือกข้างใน ทำให้รีไซเคิลไม่ได้ ต้องดูเบอร์ดีๆ ครับ ฝาแก้วส่วนมากเป็นพลาสติกจึงรีไซเคิลได้ กล่องบรรจุอาหารถ้าเปื้อนมากก็ต้อง trash อย่างเดียว โดยเฉพาะกล่องพิซซ่า (อาหารสิ้นคิดของคนเมืองนี้) ถ้วยพลาสติกอย่างถ้วยโยเกิร์ตหรือกล่องพลาสติกใส่อาหารก็ควรจะแยกทิ้งเศษอาหาร ขวดนมหรือน้ำผลไม้ก็เหมือนกันควรจะล้างก่อนทิ้ง เพื่อให้ขยะนั้นขายได้ จีนนั้นจะรับซื้อขยะที่มีสิ่งเจือปนไม่เกิน 0.5% เท่านั้น และถ้าจีนไม่รับซื้อล๊อตไหน ล๊อตนั้นก็จะต้องถูกนำไปฝังกลบ (-_-") น่าจะเอาอย่างบางประเทศที่เผาขยะนะครับ แต่ก็คงต้องเก็บค่าทิ้งขยะแพงขึ้น

สหรัฐนั้นมีกฎหมายกลางน้อยมาก เรื่องการรีไซเคิลนั้นแต่ละเมืองตั้งกันเอง พี่จีนก็เพิ่งแบนการใช้พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล ทำให้บางเมืองเริ่มที่จะไม่รับรีไซเคิลขยะพลาสติกบางเบอร์ (อ่าว) ผมว่าก็ควรจะแยกทิ้งเหมือนเดิมซิครับ แล้วจะทำยังไงกับมันต่อก็ต้องไปแก้ปัญหากัน ไม่ใช่มาเลิกรับหรือเลิกแยกขยะกันเพราะผู้ซื้อขยะรายใหญ่จะไม่รับซื้อ ระบบทุนนิยมก็งี้ละมัง เสียงของประชาขนมีความหมายไม่เท่าเสียงของเอกชน(นายทุน)

กลับมาเรื่องขยะที่คนส่วนใหญ่แยกผิด อีกอย่างหนึ่งก็คือถุงพลาสติก ถุงนี่ทิ้งรวมไปกับพวกขวดไม่ได้นะครับ เพราะว่าน้ำหนักมันเบา ปลิวง่าย และมักจะไปทำให้เครื่องจักรในโรงงานรีไซเคิลติดขัด ต้องแยกทิ้งต่างหาก ตามร้านซุปเปอร์มาเก็ตมักจะรับทิ้งถุงพลาสติกครับ ควรจะเอาไปซีไซเคิลที่นั่น และนั่นก็แปลว่าเราไม่ควรใช้ถุงพลาสติกใส่ขยะรีไซเคิลอื่นๆ ครับ ถ้าจะทิ้งกระดาษก็ควรจะมัดด้วยเชือกไม้ ไม่ใช่เอาถุงพลาสติกมาใส่กระดาษ เพราะมันเป็นคนละประเภทกัน ส่วนเรื่องถุงเองถ้าจะให้ดี หาถุงผ้าดีๆ เอาไว้ใช้จ่ายตลาดดีกว่าครับ ไม่ก็ใช้ backpack หรือกระเป๋าเดินที่มีอยู่นั่นแหล่ะ

ขยะประเภทสุดท้ายที่คนแยกทิ้งผิดกันก็คือ ผ้าอ้อม! ไม่น่าเชื่อ! เขาบอกว่าหลายๆ คนคิดว่าผ้าอ้อมทำจากพลาสติกก็น่าจะรีไซเคิลได้ เอิ่ม... ผ้าอ้อมที่ยังไม่ได้ใช้ซินะครับ แต่ก็ยังไม่ใช่อีกนั่นแหล่ะ ผ้าอ้อมนั้นทำจากพลาสติกหลายเบอร์ ทำให้แยกทิ้งลำบาก พอแยกแล้วก็เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็จะเป็นปัญหาเหมือนถุงพลาสติกอีก เพราะฉะนั้น ผ้าอ้อมนี่ trash อย่างเดียว คิดแล้วก็สงสารธรรมชาติเพราะการฝังกลบ อย่างให้มีการเผาขยะให้มากขึ้นถึงแม้จะต้องเก็บค่าทิ้งขยะเพิ่มก็ตามที

ไข่ไก่

ตัวผมเองชอบกินไข่ลวกตอนเช้า เลยต้องมีไข่ติดบ้านเสมอ ตอนแรกๆ ผมก็ไม่ค่อยได้สนใจหรอกว่าไข่แต่ละประเภทมันแตกต่างกันยังไง แค่ลวกไข่ให้สำเร็จก็ยา...